มีเรื่องมาเล่าให้ฟังฮะ เมื่อประมาณ 3 ปีก่อนผมเขียนบทความชิ้นนึงเกี่ยวกับ ประวัติศาสตร์การเมืองของงานสำรวจอวกาศในช่วงสงครามเย็น ปรากฎว่าตอนที่กำลังหาข้อมูลอยู่ก็บังเอิญไปเจอกับเรื่องของ artifact ชิ้นนึงจากโครงการอะพอลโล 11 ที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง ชื่อ The Goodwil Message ที่เป็นเหรียญทำจากซิลิกอนขนาดเล็กประมาณเหรียญ 50 เซนต์ (หรือใหญ่กว่าเหรียญ 10 บาทนิดหน่อย) ที่บัซ อัลดรินเอาติดไปจากโลก แล้วโยนทิ้งไว้ที่พื้นผิวของดวงจันทร์
The Goodwill Messages Disc – ที่มา NASA
อย่างที่เราเขียนอยู่บ่อยครั้งว่า Space Race หรือการแข่งขันทางอวกาศระหว่างสหรัฐอเมริกาและโซเวียตในช่วงประมาณปี 1950 ปลาย ๆ ถึง 1970 ถูกผลักดันด้วยเหตุผลทางการเมืองอยู่ค่อนข้างเยอะ ในปี 1969 ที่สหรัฐฯ กำลังจะทำภารกิจอะพอลโล 11 ที่เตรียมพามนุษยชาติขึ้นไปเหยียบดวงจันทร์เป็นครั้งแรก ก็มีหรือที่สหรัฐฯ จะไม่ใส่นัยยะหรือประเด็นทางสังคมเข้ามาด้วย
ตอนนั้นการแสดงออกอย่างหนึ่งที่สหรัฐฯ interact ไปหานานาประเทศก็คือการเชื้อเชิญให้ผู้นำของแต่ละชาติส่ง “สารไมตรีจิตร” (a Goodwill Message) มาแสดงความยินดีแก่สหรัฐฯ และนักบินอวกาศ (ตั้งแต่ตอนยังไม่ไป) (แหม) และพูดถึง hope for peace (ไม่รู้จะแปลยังไงดี) สำหรับโลกใบนี้
The messages from foreign leaders congratulate the United States and its astronauts and also express hope for peace to all nations of the world. – RELEASE NO: 69-83F
เรื่องแสดงความยินดีแก่สหรัฐฯ ผมไม่ได้พูดเองนะ มันเขียนใน press release จริง ๆ โดยได้มีการบันทึกเอาไว้ใน Apollo 11 Goodwill Message
อย่างป้าย We came in peace for all mankind ที่ขา Lunar Lander ของอะพอลโล 11 ก็เป็น artifact ชิ้นนึงที่มองได้ว่าเป็นนัยยะการสร้างเรื่องเล่าทางการเมืองและอุดมการณ์เหมือนกัน อย่างการพูดถึงภารกิจอวกาศในฐานะการเดินทางของ “มนุษยชาติ” — จริง ๆ งานด้านอวกาศปัจจุบันก็มีนัยยะที่คล้าย ๆ กันอย่างการพยายามเคลมความ “นานาชาติ” ของทั้ง Artemis Accord จากฝั่งสหรัฐฯ กับ International Lunar Research Stattion จากฝั่งจีนและรัสเซีย — but that’s a story for another time เดี๋ยวไว้มีโอกาสจะกลับมาเขียน
ตอนนั้นมีประเทศประมาณ 70 กว่า ๆ ประเทศที่ตอบรับคำเชิญชวนและเขียนจดหมายกลับมา จากนั้นสหรัฐฯ ก็นำจดหมายพวกนี้มารวมกัน ทำ negative photomask เพื่อทำแม่พิมพ์ย่อขนาด แล้วเอาแม่พิมพ์นี้ไปสลักบนแผ่นเวเฟอร์ซิลิกอนอีกที สรุปแล้วผลลัพธ์ที่ได้ก็เป็นแผ่นซิลิกอนกลม ๆ เล็ก ๆ (อย่างที่บอกไปแล้ว) แล้วสหรัฐฯ ก็ใช้นาซ่า ให้ใช้นักบินอวกาศไปทิ้งไว้ที่ดวงจันทร์อีกต่อ
ซึ่ง press release ที่ผมพูดถึงก่อนหน้านี้ นอกจากจะเป็นหลักฐานว่าสหรัฐฯ เป็นคนพูดเองว่าข้อความในจดหมาย (ที่ตัวเองเชิญให้ประเทศอื่นเขียน) เป็นการแสดงความยินดีต่อสหรัฐฯ (in other word ผมไม่ได้แซะลอย ๆ) มันยังเขียนข้อความฉบับแปลของแต่ละประเทศใส่ไว้ให้ด้วย
และหนึ่งในนั้นก็คือประเทศไทย
แต่สิ่งที่ขัดใจผมอย่างนึงก็คือ press release ฉบับนี้มันเป็นแค่ “translations of goodwill messages” เท่านั้น ไม่ใช่ตัวจดหมายจริง มันทำให้ผมตั้งคำถามหลายอย่างเกี่ยวกับข้อความ:
- สารไมตรีจิตรจากไทยนี้ เขียนเป็นภาษาอังกฤษแบบนี้ตรง ๆ เลยหรือเปล่า หรือมีข้อความต้นฉบับเป็นภาษาไทย
- ใครเป็นคนเขียนสารฉบับนี้ ทำไมข้อความของไทยที่บันทึกใน press release ไม่มีชื่อลงท้าย ทั้งที่ประเทศส่วนใหญ่มี อย่าง UK ลงท้ายว่า Elizabeth R. อินเดียลงชื่อ Indira Gandhi หรือ Chiang Kai-Shek (เจียงไคเช็ค) ลงชื่อในฐานะประธานาธิบดีของ “สาธารณรัฐจีน” (Republic of China) (a.k.a ไต้หวัน) (ไม่มีชื่อจีนแผ่นดินใหญ่ใน The Goodwill Disc) ในวิกิพีเดียก็ไม่มีข้อมูล
- ฟอร์แมตจดหมายของไทยเป็นยังไง มีตราหัวกระดาษมั้ย เป็นรูปอะไร ตราครุฑหรือเปล่า?
ตอนแรกเข้าใจว่าจะมีรูปต้นฉบับของสารทุกฉบับออนไลน์ (คิดว่านาซ่าน่าจะ archive ไว้แหละ) แต่ปรากฎหาไม่เจอเลย เลยลองค้น ๆ หา source อื่นดู
สิ่งที่ดูใกล้ความจริงที่สุดที่เจอตอนนั้นคือภาพจาก Royal Collection Trust ของอังกฤษ (ถ้าจะพอเปรียบเทียบกับไทย ก็อาจจะมองประมาณสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์ ที่เป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาบริหารดูแลทรัพย์สินของพระมหากษัตริย์ — ที่จริง ๆ บริบทกับสถานภาพอาจจะไม่ตรงกันเท่าไหร่) ของทรัพย์สินรหัส RCIN 2511493 “Messages of Goodwill from around the world brought to the Moon by the Astronauts Apollo 11 c. 1969” ที่เป็นของที่ระลึกที่นักบินอวกาศอะพอลโล 11 ทั้ง 3 นำไปถวายควีนอลิซาเบธในช่วงระหว่าง world tour ที่นักบินอวกาศเดินทางไปประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกหลังจากจบภารกิจ ซึ่งหน้าตาของมันเป็นแบบนี้
โดยภาพนั้นมาจาก Messages of Goodwill from around the world brought to the Moon by the Astronauts Apollo 11 c. 1969
หน้าตาของ Goodwill Message ขนาดเล็กมากที่สามารถหามาได้
จากในรูปจะเห็นว่ามันคือกรอบที่ใส่ภาพขยายของเหรียญกับ replica ของเหรียญแปะอยู่ทางด้านซ้ายของภาพ ซึ่ง Royal Collection Trust ถ่ายรูปมาค่อนข้างชัดมาก ๆ จนพอเห็นตัวสารแต่ละอันแบบเลือน ๆ ผมก็นั่งไล่ดูไปทีละแผ่น จนเจออันนึงที่สะดุดตา ผมสังเกตว่าข้อความในสารตรงแถวที่ 4 จากล่าง 3 จากซ้าย ดูคล้าย ๆ กับตัวอาลักษณ์ภาษาไทย มีตัวบน ตัวล่าง แถมแถวล่างของข้อความลงท้ายดูเว้นวรรค 4 ช่วงเหมือนคำว่า วันที่ xx เดือนอะไรซักอย่าง ปีสี่หลัก และเมื่อมองขึ้นไปที่หัวจดหมาย ถ้าสารฉบับนี้เป็นของไทยจริง อาจจะสังเกตได้ว่าตราดังกล่าวดูเหมือนตราพระบรมราชโองการ ซึ่งหมายความว่าในหลวงรัชกาลที่ 9 คือผู้ทรงพระอักษรสารฉบับนี้
ผมหาข้อมูลเรื่องนี้ต่ออีกสักพักแต่ก็รู้สึกว่ามันออกทะเลจากตัวบทความเรื่องการเมืองของ Space Race ที่ตั้งใจจะเขียนตอนแรกไปมาก + แอบยาว เลยโยนข้อมูลที่หาได้ในประเด็นเรื่อง Goodwill Disc นี้ใส่ draft ไว้ แล้วกลับมาเขียนบทความอันหลักก่อน (เพราะเดี๋ยวไม่เสร็จ) แล้ววางแผนไว้ว่าถ้าว่างจะค่อยกลับไปทำประเด็นเรื่องเหรียญอันนี้แยกต่อ
ซึ่งหลังจากที่เขียนบทความตัว ทำไมการเมืองถึงพามนุษย์ไปดวงจันทร์ เสร็จจนกด publish เรียบร้อย ก็ลืมดราฟเรื่องเหรียญไปเลย
จนกระทั่ง 20 กรกฎาคม 2566 พี่ Wiwat Changtrakul จากเพจ Dark-sky Thailand เอาประเด็นนี้มาเขียนลงเพจ Dark-Sky Thailand แล้วเจอคำถามเดียวกัน ผมเลยนึกขึ้นถึงประเด็นนี้ขึ้นมาได้ แล้วรื้อกลับมาดูใหม่
ใน reference ที่เก็บมา ผมใส่ชื่อของหนังสือเล่มนึงชื่อ “We Came In Peace For All Mankind: The Untold Story of the Apollo 11 Silicon Disc” ไว้ มันเป็นหนังสือของอาจารย์จาก University of Washington ชื่อ Tahir Rahman ที่สนใจเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ Space Race + Artifact จากยุคนั้น แต่เพราะมันต้องสั่งจาก Amazon มาไทย + ราคาแพงใช้ได้ (ตอนนั้นกรอบมาก) + ไม่แน่ใจว่ามันจะมีภาพต้นฉบับจริงมั้ย เพราะในคำโปรยไม่ได้บอกไว้ เลยไม่ได้กดสั่งมา
ปรากฎว่าตอน revisit รอบนี้ไปอ่าน description ใน Amazon แบบละเอียดอีกที ก็เจอว่าในส่วนของ author information มันเขียนเอาไว้ว่า ” It is the only book which contains all the goodwill messages” ประจวบเหมาะกับช่วงนั้นพี่น้ำหวาน Spaceth กำลังจะแว้บจาก UC Santa Cruz กลับไทยพอดี ก็เลยกดสั่งไปให้พี่น้ำหวานฝากหิ้วมาให้หน่อย
แต่ปรากฎช้าไปนิดนึง หนังสือมาส่งน่าจะช่วงวันที่พี่น้ำหวาน ภิรมณ กำเนิดมณี บินพอดีเลยอดได้จับเล่มจริง ก็เลยฝากพี่น้ำหวานว่ากลับอเมริกาเมื่อไหร่ฝากหาข้อความของไทยในหนังสือแล้วถ่ายรูปมาหน่อย
ข้อความดังกล่าวได้ระบุว่า “ประชาชาติไทยร่วมยินดีและสนับสนุนผลสำเร็จยิ่งใหญ่ของโลกชนครั้งนี้ อันเป็นทางนำสู่ศานติสุขสากล” อ๊ากวดสดบไสเบหสเข้า ;-; ขอบคุณครับ
สรุปแล้วก็อย่างที่คาดไว้ ตราด้านบนเป็นตราของพระบรมราชโองการจริง ลงท้ายแถวล่างสุดเป็นวันที่จริง แต่สิ่งที่ขนลุกที่สุดตอนได้เห็นภาพคือลงท้ายแถวบนที่สงสัยมานานว่าคืออะไร สถานที่ทรงพระอักษร: พระที่นั่งอัมพรสถาน สรุปแล้วข้อความฉบับนี้เป็นของในหลวงรัชกาลที่ 9 จริง ไม่มีการลงพระปรมาภิไธยและผู้รับสนอง จึงไม่มีการแปลใน press release ของนาซ่า
เกร็ด 1 เพิ่งรู้เหมือนกันว่าพระบรมราชโองการที่กฎหมายบังคับให้ต้องมีผู้รับสนองเป็นเกี่ยวกับราชการแผ่นดินอย่างเดียว ถ้าเป็นพระบรมราชโองการอื่น ๆ ไม่ต้องมีผู้รับสนองก็ได้ ซึ่งก็น่าจะคืออย่างในกรณีนี้ — หรือถ้าเป็นพระราชสาส์นอย่างที่ส่งไปแสดงความยินดี / เสียพระราชหฤทัย ก็ไม่ได้มีกฎหมายระบุว่าต้องมีผู้รับสนองแต่แรก
เกร็ด 2 ราชบัณฑิตสะกดคำว่า “พระราชสาส์น” ว่า “พระราชสาสน์” กับระบุว่าคำว่า “สาส์น” เป็นคำที่อ่านและเขียนผิดอักขรวิธีไทยของคำที่มาจากภาษาบาลีสันสกฤต สำนักงานราชบัณฑิตสภา “สาสน์” “สาส์น” และ “สาร”
จบเรื่องที่คาใจไปเรื่องนึง แต่ก็นึกถึงเรื่องที่คาใจอีกเรื่องขึ้นมาได้: แผ่นป้ายแบบที่นักบินอะพอลโล 11 ถวายแด่ควีนอลิธาเบทที่ 2 ถูกนำไปถวายในหลวงรัชกาลที่ 9 เหมือนกันหรือเปล่า
แผนที่การเดินทางของ Apollo 11 World Tour – ที่มา NASA
NASA JSC Oral History Project เป็นโครงการของนาซ่าเพื่อเก็บรายละเอียดข้อมูลละเอียดประวัติศาสตร์การสำรวจอวกาศผ่านการสัมภาษณ์บุคคลที่เกี่ยวข้อง ใน excerpt ของบทสัมภาษณ์ปี 1999 ของ Geneva Barnes เจ้าหน้าที่ Public Affair ของนาซ่าที่มีบทบาทสำคัญในแคมเปญ world tour ของ Apollo 11 มีการระบุ footnote ตรงท้ายเกี่ยวกับของที่ระลึกหลัก 3 ชิ้นที่นักบินอวกาศจะนำไปมอบให้กับผู้นำของประเทศที่ไปเยือนได้แก่
- ตัวจำลองแผ่นป้ายที่ถูกทิ้งไว้ที่ดวงจันทร์ (เข้าใจว่าน่าจะหมายถึง Apollo 11 Lunar Plaque — ตัว We came in peace for all mankind นั่นแหละ) ติดกับกระดานทำด้วยไม้วอลนัท ที่มอบให้ผู้นำแต่ละ “เมือง” ที่ไป
- แบบจำลอง The Goodwill Message Disc พร้อมกับแว่นขยายและภาพ [ขยายของ Goodwill Message Disc] ใส่กรอบ ที่มอบให้กับผู้เขียนสารของแต่ละประเทศ โดยหนึ่งในชื่อที่ระบุได้แก่ “Thailand, Bhumibol Adulyade”
- ภาพสีจากภารกิจอะพอลโล 11 พร้อมลายเซ็นนักบินอวกาศมอบให้กับบุคคลที่มีความสำคัญรองลงมา (เช่นรัฐมนตรี ทูต นายกเทศมนตรี)
ของที่ระลึกชิ้นที่ 2 มีรายละเอียดที่ค่อนข้างตรงกับภาพใน The Royal Trust ประกอบกับในเว็บบอร์ด collectspace มีสมาชิกชื่อ SpaceAholic ได้ค้นพบวิดิโอที่นักบินอวกาศนำของในลักษณะเดียวกันไปถวายแด่ควีนจูเลียน่าแห่งประเทศเนเธอแลนด์ ในขณะ world tour เยือนกรุงอัมสเตอร์ดัม
ภาพปก + ช่วงวินาทีที่ 40 จะเห็นนักบินอวกาศถวายกรอบรูปที่ดูเหมือนใน Royal Collection Trust แด่ควีนจูเลียน่า
รวมถึงช่วงที่นักบินทั้ง 3 เยือนประเทศไทยได้มีช่วงที่เข้าเฝ้าในหลวงรัชกาลที่ 9 ข้อมูลที่เล่ามากลุ่มนี้จึงอาจเป็นข้อมูลสนับสนุนได้ว่านักบินทั้งสามน่าจะถวาย replica ของ The Goodwill Disc ให้กับร.9 เช่นเดียวกับที่อังกฤษหรือเนเธอร์แลนด์
อย่างไรก็ตาม ข้อมูลของจำนวน replica ของเหรียญที่ถูกผลิตขึ้นยังดูเป็นปริศนา ในอินเตอร์เน็ตมีอ้างถึงหนังสือของ Tahir ว่าอ้างถึง press release ของบริษัท Sprague Co. ที่เป็นผู้ผลิตเหรียญไว้ (ยังยืนยันข้อมูลจากหนังสือ Tahir ตรง ๆ ไม่ได้เพราะยังไม่ได้เล่มจริง) ว่าเหรียญเวอร์ชั่นสมบูรณ์* ถูกผลิตขึ้นมาด้วยกันทั้งสิ้น 17 ชิ้น โดยชิ้นหนึ่งได้ถูกนำไปดวงจันทร์ ในขณะที่อีก 16 ชิ้นมอบให้กับบุคคลสำคัญจากหน่วยงานต่าง ๆ ซึ่งตัวเลขนี้น้อยกว่าจำนวนประเทศที่ส่งสารไมตรีจิตรมาก หรือน้อยกว่าแม้แต่ประเทศที่นักบินอวกาศไปเยือนใน world tour ซึ่งนั่นนำไปสู่ความเป็นไปได้สองอย่าง 1. มีแค่บางประเทศเท่านั้นที่ได้ replica หรือ replica ที่มีเหรียญจำลองติดไปด้วย 2. เป็นไปได้ว่าเหรียญมีการถูกผลิตเพิ่ม (ซึ่งขัดกับ footnote บทสัมภาษณ์ Barnes) หรือ 3. press release ข้อมูลผิด (หรือ press release ฉบับนั้นอาจจะไม่มีอยู่จริงเพราะผมยังหาหลักฐานชั้นต้นไม่ได้เหมือนกัน)
* ที่ใช้คำว่าเหรียญเวอร์ชั่นสมบูรณ์ เพราะว่าก่อนหน้านั้นได้มีการผลิตเหรียญที่จำนวนประเทศน้อยกว่า (คือยังไม่ครบ) หรือมีเวอร์ชั่นที่ไม่มีประเทศคอมมิวนิสต์อยู่ด้วย รายละเอียดเพิ่มเติมอ่านได้ใน discussion board ของ collectspace
สรุปแล้วที่เล่ามาตรงนี้ก็ยังหาคำตอบไม่ได้เหมือนกัน ถ้าได้หนังสือของ Tahir เล่มจริงเมื่อไหร่แล้วมีข้อมูลเพิ่มเติมจะเอามาอัพเดตให้ฟังฮะ
เรียบเรียงโดยทีมงาน Spaceth.co