รู้จักกับจรวด Vulcan Centaur ผู้สืบทอดความยิ่งใหญ่ของจรวดตระกูล Atlas

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ เราจะเห็นว่าหลาย ๆ บริษัทสัญชาติอเมริกาที่ทำงานด้าน Spaceflight จะอยู่ในช่วงการเปลี่ยนผ่านจากการใช้จรวดรุ่นก่อนหน้าไปสู่จรวดรุ่นใหม่ อาจจะเป็นเรื่องของจรวดรุ่นเดิมเก่าแล้วหรืออาจการต้องเพิ่มขอบเขตและขีดความสามารถในการส่งของขึ้นอวกาศก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลแต่ละที่ ในบทความนี้เราจะพาทุกคนไปรู้จักกับหนึ่งในจรวดยุคถัดไปของสหรัฐฯ นาม Vulcan Centaur

รู้จักกับ Vulcan Centaur และที่มาของมัน

Vulcan Centaur เป็นหนึ่งในจรวดจากทางบริษัท United Launch Alliance ซึ่งเป็นผู้สืบทอดตำแหน่งของ Atlas V ที่เหลือเพียงประมาณ 20 เที่ยวบิน และจรวดตระกูล Delta IV ซึ่งเหลือ Delta IV Heavy อีก 3 เที่ยวบินก่อนที่จรวดทั้งสองรุ่นจะปลดประจำการแล้วหันไปใช้จรวดรุ่นใหม่กว่าอย่าง Vulcan ที่มีสมรรถนะที่เหนือกว่าในหลาย ๆ ด้าน

เรามาพูดถึงเหตุผลของการพัฒนาจรวดรุ่นนี้กันบ้างดีกว่า ย้อนกลับไปตอนช่วงปี 2014 ในช่วงนั้นอยู่ในช่วงวิกฤต Ukraine พอดี และเนื่องด้วยจรวด Atlas V เป็นจรวดที่ใช้เครื่องยนต์ RD-180 ที่ซื้อมาจากรัสเซียแต่กลับถูกเอามาใช้ในภารกิจรูปแบบ national security space launch ซึ่งเป็น payload ทางการทหารของทางสหรัฐฯ มันจึงดูไม่ปลอดภัยที่จะใช้เครื่องยนต์จากดินแดนที่ขัดแย้งกับตัวเอง ทำให้รัฐสภาของสหรัฐฯ ในตอนนั้นต้องประชุมในประเด็นของการแบนเครื่องยนต์รุ่นนี้

จรวด Atlas V 541 จากภารกิจ GOES-T ที่มา – ULA

การแบนเครื่องยนต์รุ่นนี้เท่ากับว่าในระยะยาว ทาง ULA จะไม่จรวดไว้ใช้ส่งของขึ้นอวกาศ เพราะเนื่องด้วยจรวดตระกูล Delta เองก็เก่าอยู่พอสมควร ประกอบกับพอจรวด Atlas V ไม่สามารถส่ง national security spacecraft ได้อีกจากวิกฤตดังกล่าวยิ่งเป็นปัญหาใหญ่ ในปีเดียวกัน ทาง ULA จึงประกาศพัฒนาจรวดรุ่นใหม่อย่าง Vulcan หรือจะให้แปลไทยเป็นไทยอีกคือ Vulcan Centaur ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้ความต้องการด้านการทหาร

แต่การประกาศพัฒนา Vulcan นี้ก็ยังต้องการเครื่องยนต์จรวดที่พัฒนาขึ้นเองในประเทศด้วย ในตอนนั้นมีสองบริษัทที่เข้ามาเสนอพัฒนาเครื่องยนต์ให้ประกอบไปด้วย Blue Origin ที่เริ่มพัฒนาเครื่องยนต์ BE-4 มาตั้งแต่ช่วงปี 2011 เพื่อใช้กับจรวดของตัวเองอย่าง New Glenn และ Aerojet Rocketdyne ที่มีแผนพัฒนาเครื่องยนต์ AR1 โดย BE-4 เป็นเครื่องยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงมีเทน ส่วน AR1 ใช้เชื้อเพลิง RP-1 ซึ่งจากตรงนี้ฟังดูเหมือน Aerojet Rocketdyne จะมีข้อได้เปรียบเรื่องการใช้เชื้อเพลิงเพราะ RD-180 ก็ใช้ RP-1 เหมือนกัน ไม่ต้องเปลี่ยนเชื้อเพลิงก็เป็นเรื่องที่ดี แต่กลับเสียเปรียบตรงกระบวนการพัฒนาในช่วงนั้น ทำให้ทาง ULA ต้องประกาศเลือกใช้เครื่องยนต์ BE-4 จากทาง Blue Origin แทน

ภาพ render อธิบายเครื่องยนต์ BE-4 ที่มา – Blue Origin

โดยในตอนนั้นมีการประกาศไว้ว่าตัวจรวดจะขึ้นบินในช่วงปี 2019 แต่กลับถูกเลื่อนมาเรื่อย ๆ จนมีแผนส่งในปลายปี 2022 เพราะปัญหาใหญ่อย่างวิกฤตขาดแคลนชิ้นส่วนเครื่องยนต์ที่ไม่เพียงพอกับการประกอบเครื่องยนต์ คือประมาณว่าเราพัฒนาเครื่องยนต์ได้นะแต่เรื่องประกอบแล้วส่งให้คุณเอาไปใช้ เราทำให้ไม่ได้ว่ะ พอดีเรามีของไม่พอ ซึ่งประเด็นนี้ต้องโทษผ่ายบริหารของทาง Blue Origin ที่จัดสรรงบให้ไม่เพียงพอ (ฮา)

จากตรงนี้ก็อาจจะมีคำถามตามมาอีกว่า แล้วทำไม ULA ต้องพึ่งพาเครื่องยนต์จากบริษัทหรือหน่วยงานภายนอกตลอดเลย อย่างจรวด Delta II และ Delta IV ก็ใช้เครื่องยนต์ RS-27 และ RS-68 จากทาง Rocketdyne เหมือนกับ Atlas V ที่ต้องซื้อ RD-180 มาจากรัสเซีย แล้ว Vulcan Centaur ก็เป็นจรวดที่จะเอามาใช้ในยุคถัดไปก็ยังจะซื้อเครื่องยนต์มาใช้อีก ทำไมไม่พัฒนามาใช้เองบ้าง

ต้องอธิบายกันก่อนว่าจริง ๆ ULA ไม่ได้มีสถานะเหมือนกับพวก SpaceX หรือ Rocket Lab ที่เป็น Launch Company ที่ทำทุกอย่างเองจากภายใน แต่เป็นบริษัทที่ให้บริการรับส่งของขึ้นอวกาศเท่านั้น ซึ่งจะดูแลตั้งแต่รับการจัดสั่งซื้อเที่ยวบินไปจนถึงดูแล Flight ของจรวด เที่ยวบินส่วนใหญ่ก็เป็นคำสั่งซื้อจากกระทรวงกลาโหมและ NASA รวมไปจนถึงหน่วงงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง แต่ถึงจะทำแค่ส่วนของงานบริการส่งจรวด แต่จริง ๆ ก็มีงานส่วนอื่นที่ต้องทำเองเหมือนกัน อย่างการพัฒนาและผลิตถังเชื้อเพลิงจรวดทั้งจรวดตัวเองทั้ง Delta และ Atlas หรืออย่างถังเชื้อเพลิงของจรวดท่อน ICPS ที่ใช้บนจรวด SLS ทาง ULA ก็รับหน้าที่พัฒนาเช่นกัน

จรวดท่อนแรก “Vulcan” ที่มาพร้อมกับ SMART reuse

เนื่องด้วยว่าตัว Vulcan Centaur ถูกออกแบบมาให้ทรงพลังมากกว่าจรวดรุ่นอื่น ๆ ที่อยู่ในเครือของ ULA ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งจรวดครั้งนึงอาจสูงถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งค่าใช้จ่ายในการทำถังเชื้อเพลิงที่ใหญ่ขั้นรวมไปจนถึงเครื่องยนต์หลักซึ่งตีมูลค่าอยู่ที่ประมาณ 65% ของค่าใช้จ่ายในการสร้างบูสเตอร์ 1 ลำ ทำให้ทาง ULA ต้องหาวิธีประหยัดค่าใช้จ่ายและทำให้ระบบการส่งจรวดทั้งหมดสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืนภายใต้อุตสาหกรรมการส่งจรวดที่หลาย ๆ เจ้าเริ่มสามารถลดค่าใช้จ่ายได้แล้ว ทำให้ทาง ULA เองก็ต้องร่วมขบวนไปด้วยวิธีการ Reuse เช่นกัน

ถังเชื้อเพลิงของจรวดท่อน Vulcan เพื่อใช้สำหรับการทดสอบเติมเชื้อเพลิง ที่มา – ULA

การจะ Reuse นั้นคือการที่เราต้องเก็บชิ้นส่วนของจรวดที่ใช้แล้วมาใช้ซ้ำให้ได้ อย่าง SpaceX และ Blue Origin ก็เลือกที่จะใช้หลัก Propulsive Landing เพื่อลดความเร็วมให้ตัวจรวดสามารถลงจอดบนพื้นได้ หรืออย่าง Rocket Lab เองก็เลือกที่จะติดตั้ง Parchute ให้กับตัวจรวดแล้วเก็บกู้จากตรงนั้น แต่สำหรับ Vulcan แล้ว การมีเครื่องยนต์ BE-4 ซึ่งมีทั้งขนาดที่ใหญ่และแรงขับสูง รวมถึงมีเพียงสองเครื่องยนต์เท่านั้น ทำให้การเก็บกู้แบบ Propulsive Landing นั้นเป็นเรื่องที่ยากจากการทีแรงขับที่สูงเกินกว่าจะประคองตัวบูสเตอร์ให้ลงจอดอย่างนิ่มนวลได้ หรือการจะติด Parachute ให้กับจรวดทั้งลำก็ดูเป็นเรื่องที่ยุ่งยากเพราะตัวจรวดไม้ได้เล็กและเก็บกู้ได้ง่ายเหมือนกับจรวด Electron

ประกอบกับการที่ลักษณะการบินของจรวดรุ่นนี้นั้น ตัวบูสเตอร์จะบินขึ้นไปสูงมาก ๆ และมีความเร็วระดับ Hypersonic ซึ่งมากกว่าระดับ Supersonic ไปแล้ว การที่ตัวบูสเตอร์จะลดระดับความเร็วไม่ให้เร็วเกินไปจนเสียดสีกับบรรยากาศจนหายไปตอนตกลงมานั้น จำเป็นต้องใช้เชื้อเพลิงที่มากซึ่งไม่ดีแน่ที่ต้องบรรทุกเชื้อเพลิงส่วนเกินขึ้นไปมาก ๆ เพราะมันมีผลต่อขีดความสามารถในการส่งของขึ้นอวกาศ

ทาง ULA จึงต้องเลือกใช้วิธีอื่นที่ไม่ใช่ทั้ง Propulsive Landing และการติดตั้ง Parachute โดยทาง ULA ได้แนวคิดด้วยกันสองวีธีคือ การติดตั้งเครื่องยนต์หลักไว้กับ Engine pod ที่แยกกับตัวถังเชื้อเพลิงแล้วให้แยกตัวออกจากตัวถังเพื่อร่อนกลับมาลงจอด (จะมีความคล้ายกับกระสวยอวกาศที่มีถังเชื้อเพลิงแยกกับส่วนเครื่องยนต์และยานหลัก) และวิธีการติดตั้ง Heat shield แล้วให้ตกกลับมาอย่างอิสระซึ่งต้องแยกออกจากตัวถังเหมือนกัน ซึ่งทั้งสองวิธีเหมือนกันตรงที่เก็บกู้เพียงเครื่องยนต์หลักเท่านั้นแล้วปล่อยให้ตัวถังเชื้อเพลิงเสียดสีแล้วถูกเผาไหม้ไปในบรรยากาศ

แต่จากการค้นคว้าและการคำนวณเรื่องของความคุ้มค่าแล้ว (อ่านเพิ่มเติมได้ที่ Launch Vehicle Recovery and Reuse) วีธีการติดตั้ง Heat shield นั้นจะประหยัดค่าใช้จ่ายได้มากกว่าถ้าเป็นช่วงของจำนวนเที่ยวบินที่มาก คำถามต่อมาคือแล้วเราจะยัด Heat shield ลงไปอย่างไรเพื่อไม่ให้ตัวเครื่องยนต์ของเราเสียหาย ทาง ULA ได้ศึกษาการพัฒนา Heat shield รูปแบบใหม่จากทาง NASA ซึ่งในช่วงนั้น NASA ก็กำลังพัฒนา Hypersonic Inflatable Aerodynamic Decelerator จากชื่ออาจดูเหมือนไม่ใช่ Heat shield แต่เชื่อเหอะ เจ้า HIAD เนี่ยแหละจะเป็นนวัตกรรมที่ก้าวข้ามขีดจำกัดของ Heat Shield แบบดั้งเดิม ด้วยการพัฒนาวัสดุที่ทนกับความร้อนขณะเสียดสีกับบรรยากาศด้วยความระดับ Hypersonic ที่มาพร้อมกับการพับเก็บและกางออกได้ ร่วมกับการมีน้ำหนักที่เบา เลยเป็นข้อดีที่ทาง ULA กำลังมองหาอยู่ (เอาจริง ๆ ULA คิดวิธีนี้ก่อนและแล้วเอาไปเปรียบเทียบความคุ้มค่ากับวิธีอื่น แต่เขียนเล่าแบบนี้เพื่อให้เห็นภาพ)

Engine pod ของ Vulcan Centaur ที่ติดตั้ง HIAD ที่มา – ULA

ทาง ULA จึงได้ประยุกต์ HIAD จากที่มีเป้าหมายเพื่อส่งของชิ้นใหญ่ ๆ ไปลงดาวอังคาร มาใช้กับการเก็บกู้ชิ้นส่วนจรวดเพื่อลดค่าใช้จ่าย โดยได้เรียกวิธีนี้ว่า Sensible Modular Autonomous Return Technology หรือ SMART ที่นี้มาอธิบายวิธีนี้กันแบบละเอียดดีกว่า หลังจากจรวดได้บินขึ้นไปแล้ว ถึงระยะนึงเชื้อเพลิงของท่อนบูสเตอร์จะหมดลงจึงต้องแยกตัวกับจรวดท่อนบน ทีนี้เนื่องจากตัวบูสเตอร์นั้นไม่ได้มีความเร็วที่มากพอที่จะอยู่บนวงโคจรได้จึงจะตกกลับสู่บรรยกาศอีกครั้ง จังหวะนั้นตัว Enging pod ที่มีเครื่องยนต์จะแยกตัวกับถังของบูสเตอร์พร้อมกับการกาง HIAD ในเวลาต่อมาเพื่อลดความเร็วและป้องกันความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับเครื่องยนต์ หลังจากตกกลับสู่บรรยากาศแล้ว ตัว Engine pod จะกาง Parachute เพื่อชะลอความเร็วอีกครั้งซึ่งจะช้าพอเพื่อให้เก็บกู้กันกลางอากาศได้ หรือถ้าพลาดก็จะปล่อยให้ตกลงในทะเลเพื่อรอการเก็บกู้อีกที

แผนภาพอธิบายหลักการ SMART reuse จากทาง ULA

โดยวิธีนี้อาจลดค่าใช้จ่ายต่อการส่งหนึ่งครั้งลงมาเหลือได้ถึง 82 ล้านเหรียญสหรัฐ ซึ่งก็อยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับ Falcon 9 ที่มีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ประมาณ 62 ล้านเหรียญ แต่สำหรับในตอนนี้ SMART reuse นี้ยังอยู่ในขั้นการพัฒนา ทำให้เราอาจยังไม่ได้เห็นระบบนี้ถูกนำมาใช้ในปีแรก ๆ ของการใช้งานจรวดรุ่นนี้ ทำให้ค่าใช้จ่ายในการจัดส่งยังดูสูงในระยะแรก แต่ก็ยังนับว่าเป็นก้าวที่สำคัญของ ULA ในการทำอุตสหกรรมจรวดแบบยั่งยืน

วิดีโอทดสอบการตกลงสู่น้ำของ Engine pod ของ Vulcan

Centaur V การอัพเกรดครั้งใหญ่ของจรวดท่อนบนตระกูล Centaur

นับได้ว่า upper stage ตระกูล Centaur เป็นหนึ่งในเทคโนโลยีจรวดที่มีอายุพอ ๆ กับจรวดตระกูล R-7 โดยดั้งเดิมแล้ว Centaur ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อใช้กับจรวดตระกูล Atlas ที่ใช้งานอยู่ในยุคนั้นโดยเฉพาะ ซึ่งในระยะแรกมันถูกรู้จักกันในนาม high-energy upper stage ซึ่งแน่นอนว่าเป็นยุคแรก ๆ ที่เริ่มศึกษาและพัฒนาเครื่องยนต์จรวดที่ดึงประโยชน์จากไฮโดรเจนมาใช้

Atlas-Centaur จากภารกิจ Atlas-Centaur 10 เมื่อปี 1966

โดยตรงนี้ต้องของแทรกอธิบายกันก่อนว่า ความพิเศษของเชื้อเพลิงไฮโดรเจนบนจรวดมันอยู่ตรงที่มันสามารถให้ Specific impulse (Isp) ได้สูงกว่าเชื้อเพลิงชนิดอื่น ๆ ดังนั้นคำถามต่อมาสำหรับคนที่เพิ่งรู้จักคำนี้คือ “มี Isp สูงแล้วดีอย่างไร?” การมีค่า Isp คือการเปรียบเทียบสัดส่วนระหว่างแรงขับที่ได้เทียบกับน้ำหนักเชื้อเพลิงที่ใช้ไป ซึ่งก็คิดกันแบบเศษส่วนปกติ (โดยตรงนี้ก็ต้องไปคำนวณกันอีกทีว่ามากหรือน้อยแค่ไหน)

หรือจะให้อธิบายในอีกความหมายคือสมมติในน้ำหนักเชื้อเพลิงที่เท่ากันระหว่างเชื้อเพลิง A กับ B ถ้าเราสามารถสร้างแรงขับจากเชื้อเพลิงทั้งสองได้เท่ากัน โดยเชื้อเพลิง A สามารถใช้งานได้นานกว่าเชื้อเพลิง B หรือใช้น้ำหนัก A ได้น้อยกว่า B ต่อหนึ่งหน่วยเวลา เท่ากับว่าเราจะประหยัดการใช้เชื้อเพลิง A ได้มากกว่าอีกชนิด จึงเป็นประโยชน์อีกข้อหนึ่งของการใช้เชื้อเพลิงที่มี Isp ที่สูง ซึ่งไฮโดรเจนก็เป็นแบบ A เนี่ยแหละเมื่อเทียบกับเชื้อเพลิงตัวอื่น ๆ ที่ใช้กันอยู่ เนื่องด้วยลักษณะเฉพาะทางเคมี (ซึ่งเราจะไม่ของลงลึกในส่วนนี้ เพราะมันค่อนข้างยาว) ทำให้ Centaur ถูกพัฒนามาเพื่อคู่กับการใช้ไฮโดรเจนเป็นเชื้อเพลิง

การที่ต้องการจรวดท่อนบนที่มี Isp ที่สูงโดยใช้ไฮโดรเจนเกิดขึ้นภายใต้แนวคิดที่ว่า บูสเตอร์ท่อนแรกสร้างความเร็วให้จรวดทั้งลำมาระดับหนึ่งแล้ว ต้องการเพิ่มความเร็วให้อีกนิดหน่อยก็ไปถึงวงโคจรแล้ว การที่มีความเร็วต้นมาให้ปริมาณหนึ่งเราแค่ต้องใช้แรงขับเพื่อสร้างความเร่งให้ไปถึงความเร็วระดับวงโคจร ซึ่งตรงนี้เราไม่จำเป็นต้องใช้แรงขับที่มาก แต่การใช้แรงขับที่น้อยต้องแลกมาด้วยการจุดให้มันนานขึ้นเพื่อประคองตัวเองให้ไปถึงวงโคจร ทำให้การใช้เชื้อเพลิงที่มี Isp สูงนั้นตอบโจทย์ในการส่งจรวดรูปแบบนี้ เพราะมันค่อนข้างประหยัดมาก ๆ จึงเป็นเหตุผลที่ไฮโดรเจนก็ยังเป็นเชื้อเพลิงที่น่าใช้ไปไม่แพ้การใช้มีเทน

จุดสูงสุดของการพัฒนา Centaur เริ่มในช่วงต้นยุค 2000 ซึ่งเป็น Centaur ที่ใช้บนจรวด Atlas III เพราะชื่อของ Atlas รุ่นนี้ทำให้มีผลมาถึงการตั้งชื่อ Centaur ด้วย โดยมันถูกเรียกว่า Centaur III (ซึ่งก็ไม่ใช่ generation ที่ 3 ของ Centaur แต่อย่างใด) โดย Centaur III เป็นการพัฒนามาจาก Centaur II ที่ใช้บน Atlas II ซึ่งถูกออกแบบให้ใหญ่กว่า บรรจุเชื้อเพลิงได้มากขึ้นและรีดประสิทธิภาพเครื่องยนต์ RL10 ให้ดีกว่าเครื่องยนต์รุ่นก่อน ๆ ของตระกูลเดียวกัน ด้วยประสิทธิภาพที่สูงของมันทำให้มันถูกยกมาใช้บนจรวดที่สืบทอดตำแหน่งของ Atlas III อย่าง Atlas V

แต่จากที่เล่าไปตอนต้น เนื่องด้วยปัญหาด้านการเมือง ทำให้ Atlas V เป็นตัวเลือกที่ยากต่อการทำ national Security space launch จึงต้องเลือกที่จะพัฒนา Vulcan ขึ้นมา โดยในระยะแรก Vulcan ถูกวางแผนให้ใช้ Centaur III เหมือนกับจรวดรุ่นก่อน แต่เนื่องด้วย Centaur III นั้นมีขนาดที่เล็กเมื่อเทียบกับขนาดบูสเตอร์ของ Vulcan และเพื่อรีดประสิทธภาพของตัวจรวดให้ได้มากที่สุดเลยต้องรื้อแผนการออกแบบโดยแทนที่ด้วย Advanced Cryogenic Evolved Stage หรือ ACES ซึ่งถูกออกแบบให้เป็น upper stage ของ Vulcan แต่ไป ๆ มา ๆ ระหว่างการพัฒนา ดันพัฒนา Centaur รุ่นใหม่อย่าง Centaur V เป็นโปรเจคคู่ขนานไปด้วยแบบงง ๆ

Centaur รุ่นใหม่นี้จะดึงเอาองค์ประกอบต่าง ๆ ที่มีจาก ACES มาใช้ แต่จะลดจำนวนเครื่องยนต์ RL10 จาก 4 เป็น 2 เครื่อง และตัด faeture ที่สำคัญอย่าง Integrated Vehicle Fluids ออก ซึ่งเป็น feature ที่ว่าด้วยการนำเครื่องยนต์สันดาปภายในมาใช้ โดยจะเป็นเหมือนเครื่องยนต์ที่ใช้กันในรถยนต์ที่ถูกพัฒนาขึ้นใหม่เพื่อใช้ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและออกซิเจนที่เอามาจากเชื้อเพลิงในถังเพื่อการผลิตไฟฟ้าให้ตัวท่อนจรวดได้ใช้ การตัดความสามารถนี้ออกทำให้มันไม่สามารถ stand by บนวงโคจรไว้เพื่อรอการต่อยอดภารกิจที่ใช้เวลาที่นานได้ เนื่องจาก feature นี้สามารถยืดอายุการใช้งานตัวท่อนจรวดจากระดับชั่วโมงไปจนถึงระดับสัปดาห์หรือเป็นเดือนเพราะการมีไฟฟ้าหล่อเลี้ยงระบบ โดยต่อมาทาง ULA ก็ได้ประกาศยุติการพัฒนา ACES ในปี 2020 แล้วใช้แผน Centaur V แทน

แต่อย่างไรก็ตามการพัฒนา Centaur V ก็ยังมีข้อดีที่ดีกว่าการใช้ Centaur III ตามแผนเดิม อย่างเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ที่ทำให้ผนังถังเชื้อเพลิงบางลงซึ่ง มีความหนาเพียง 1.07 มิลลิเมตรหรือประมาณ 2 ใน 3 ของความหนาเหรียญไดม์ (0.1 เหรียญสหรัฐ) ทำให้ถังมีน้ำหนักที่เบาเมื่อเทียบกับขนาดที่ใหญ่ของมัน และยืดอายุการใช้งานได้ถึง 40% รวมถึงเพิ่มกำลังได้ถึง 2.5 เท่า เมื่อเทียบกับ Centaur III แต่นั่นไม่ใช่สิ่งที่ทาง ULA คาดหวังเอาไว้ โดย Tory Bruno CEO ของ ULA ได้ออกมากล่าวทำนองว่า 40% ตรงนี้เป็นเพียงน้ำจิ้มเท่านั้น โดยทาง ULA มีแผนที่จะต่อยอดให้มันยืดอายุได้ถึง 400, 500 หรือ 600 เท่าในไม่กี่ปีนับจากเที่ยวบินแรกของ Vulcan Centaur ซึ่งมันจะเป็นประโยชน์มาก ๆ กับภารกิจรูปแบบใหม่ ๆ เพื่อทำลายข้อจำกัดเดิมของการขนส่งอวกาศเช่นการทำ delivery ไปกลับระหว่างโลกกับดวงจันทร์ หรือทำเป็นเสมือนเรือบรรทุกน้ำมันเพื่อเติมเชื้อเพลิงให้กับ upper stage ที่มาจากเที่ยวบินอื่นเพื่อเพิ่มขีดจำกัดในการส่งของ

ถังเชื้อเพลิงของ Centaur V ถังแรกของ ULA ระหว่างการทดสอบเพื่อรับการทดสอบ ที่มา – Tory Bruno

บทส่งท้าย

จากที่เล่ามาตรงนี้เราจะได้เห็นอีกมุมมองหนึ่งของวิศวกรที่มีต่อการพัฒนาจรวด ไม่จำเป็นต้องทำให้ล้ำเช่นการเอาจรวดทั้งลำกลับมาลงจอด แต่ทำให้คุ้มค่าที่สุดในวิธีที่ตัวเองทำได้เพื่อเพิ่มขีดจำกัดให้กับวงการอวกาศ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นวิธีไหนก็ตาม ก็ไม่มีวิธีไหนที่ผิดที่สุด และทำให้เราได้เห็นถึงการพยายามค่อย ๆ ปรับตัวของบริษัทอวกาศที่พยายามเปลี่ยนตัวเองจากรูปแบบ Old Space ไปสู่ New Space (อ่านเกี่ยวกับ Old Space และ New Space เพิ่มเติมได้ที่ – Old Space กับ New Space คืออะไร)

Vulcan Centaur ก็นับได้ว่าเป็นจรวดยุคถัดไปของสหรัฐฯ​ ที่จะมาเป็นส่วนหนึ่งในการสำรวจอวกาศครั้งใหม่ในโครงการ Artemis ซึ่งมันก็ไม่ใช่เรื่องที่แย่ที่มีจรวด Reuse แบบกลับมาลงจอดทั้งลำไม่ได้ไว้เป็นหนึ่งใน list ของจรวดที่ไว้ support โครงการที่มีสเกลที่ใหญ่ขนาดนี้ เป็นเรื่องที่ดีด้วยซ้ำที่มีจรวดที่หลากหลายไว้สำหรับการส่งของขึ้นอวกาศที่มีความหลากหลายไม่แพ้กัน

และในมุมมองของผู้เขียน เราไม่อยากให้ทุกคนที่ได้อ่านมาจนถึงย่อหน้านี้ยึดติดกับบริษัทเพียงบริษัทเดียว และไม่ชอบอีกบริษัทหนึ่งเพียงเพราะพวกเค้าทำในสิ่งที่บริษัทที่เราชอบไม่ได้ ทุก ๆ บริษัทที่ทำงานด้านนี้ย่อมมีข้อดีและข้อเสียที่ต่างกันออกไป ไม่มีใครทดแทนกันได้ระดับ 100% อยากทำให้การสำรวจอวกาศไปได้เร็วและไกลนั้นจำเป็นต้องอาศัยความร่วมมือกัน ซึ่งนั่นเป็นสิ่งที่หลาย ๆ คนในวงการนี้พยายามทำกันอยู่

เรียบเรียงโดย ทีมงาน Spaceth.co

19 y/o Just mechanical engineering student, hobbyist illustrator, amateur writer who wanted to be a rocket propulsion engineer.