กัญชา
กัญชา | |
---|---|
การจำแนกชั้นทางวิทยาศาสตร์ | |
อาณาจักร: | Plantae |
ไม่ถูกจัดอันดับ: | Angiosperms |
ไม่ถูกจัดอันดับ: | Eudicots |
ไม่ถูกจัดอันดับ: | Rosids |
อันดับ: | Rosales |
วงศ์: | Cannabaceae |
สกุล: | Cannabis |
สปีชีส์: | C. indica |
ชื่อทวินาม | |
Cannabis indica Lam. |
กัญชา (ชื่อวิทยาศาสตร์: Cannabis indica (Cannabis sativa forma indica)) หรือในภาษาไทยเรียกว่า ปุ๊น หรือเนื้อ เป็นชื่อของพืชล้มลุกชนิดหนึ่ง ในวงศ์ Cannabidaceae ใบมนแฉกลึกเข้าไปทางก้านหลายแฉก ดอกสีเขียว ช่อดอกเพศผู้และช่อดอกเพศเมียอยู่ต่างต้นกัน ใบและช่อดอกเพศเมียที่แห้งใช้สูบปนกับยาสูบ มีสรรพคุณทำให้มึนเมา เปลือกลำต้นใช้ทำเชือกป่านและทอผ้า
เนื้อหา
ลักษณะ[แก้]
>ต้นกัญชามีลักษณะทั่วไป คือ ลำต้นสูงประมาณ 2-5 เมตร ใบเลี้ยงคู่เมื่อโตเต็มวัยลำต้นสูงประมาณ 2-4 ฟุต ลักษณะใบจะแยกออกเป็นแฉกประมาณ 5-8 แฉก มีลักษณะคล้ายใบมันสำปะหลังที่ขอบใบทุกใบจะมีรอยหยักอยู่เป็นระยะๆ ออกดอกเป็นช่อเล็กๆ ตามง่ามของกิ่งและก้าน ส่วนที่คนนำมาเสพได้แก่ส่วนของกิ่ง ก้าน ใบ และยอดช่อดอกกัญชา โดยนำมาตากหรืออบแห้ง แล้วบดหรือหั่นให้เป็นผงหยาบๆ จากนั้นจึงนำมายัดไส้บุหรี่สูบ (แตกต่างจากบุหรี่ทั่วไปที่ไส้บุหรี่จะมีสีเขียว ต่างจากไส้ยาสูบที่มีสีน้ำตาล และขณะจุดสูบจะมีกลิ่นเหมือนหญ้าแห้งไหม้ไฟ) หรืออาจสูบด้วยกล้องหรือบ้องกัญชา บ้างก็ใช้เคี้ยวหรือผสมลงในอาหารรับประทาน ปัจจุบันรูปแบบของกัญชาที่พบ นอกจากจะพบในลักษณะของกัญชาสด กัญชาแห้งอัดเป็นแท่งเป็นก้อนแล้ว ยังอาจพบในรูปของ "น้ำมันกัญชา" (Hashish Oil) ซึ่งมีลักษณะเป็นของเหลวสีน้ำตาลเข้มหรือสีดำ ได้จากการนำกัญชามาผ่านกระบวนการสกัดหลายๆ ครั้ง จึงได้เป็นนำมันกัญชาที่มีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาทสูงถึง 20-60% หรืออาจพบในลักษณะของ "ยางกัญชา" (Hashish) เป็นยางแห้งที่ได้จากใบ และยอดช่อดอกกัญชา ซึ่งโดยทั่วไปจะมีฤทธิ์แรงกว่ากัญชาสด และมีปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ประมาณ 4-8[1]
สรรพคุณและการออกฤทธิ์ของกัญชา[แก้]
สารออกฤทธิ์ของกัญชาอยู่ที่ใบและช่อดอก ชื่อ tetrahydrocannabinol หรือ THC เป็นสารออกฤทธิ์ทางจิตและประสาท กล่าวกันว่าพระนางเจ้าวิคทอเรียแห่งประเทศอังกฤษ ทรงเคยใช้สารสกัดจากกัญชารักษาพระอาการปวดก่อนมีประจำเดือน นอกนั้นสารสกัดยังใช้เป็นยารักษาโรคอีกหลายอย่าง และยังพบว่าสารสกัดจากกัญชาใช้บรรเทาอาการผู้ป่วยมะเร็งระยะสุดท้าย ซึ่งทั้งดีและถูก จากการศึกษาข้อดีของกัญชา พบว่า การทำสารระเหยจากใบกัญชาแทนที่การเผามัน จะช่วยให้สารออกฤทธิ์ของกัญชาเกิดประสิทธิภาพได้ โดยการหลีกเลี่ยงอันตรายจากสารพิษที่เกิดจากการสูดดมควันของมัน ผลการศึกษาอาจเป็นข่าวดีสำหรับคนที่ใช้กัญชาในทางการแพทย์ ผลประโยชน์ที่สำคัญของกัญชา รวมถึงการบรรเทาอาการเจ็บปวดจากหลายๆ โรค ใช้รักษาโรคต้อหิน ใช้กระตุ้นความอยากอาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเอดส์ และใช้เป็นยาแก้อาเจียนสำหรับผู้ป่วยที่ได้รับเคมีบำบัด แต่การสูบกัญชาไม่ใช่วิธีที่ดีของการให้ยานี้เพราะว่ามีผลเสียที่อันตราย เช่นโรคมะเร็งปอดและโรคหัวใจ นอกจากการสูบแล้ว บางคนยังใช้ใบกัญชามาใช้ในการทำเป็นชาหรือใส่ในเค้กเพื่อการบริโภค แต่นั่นหมายความว่าสารสำคัญของมันจะถูกเมตาบอไลท์โดยตับมากกว่าที่จะผ่านเข้าไปในกระแสเลือดโดยตรงโดยไม่มีการเปลี่ยนแปลง วิธีการอื่นๆ ได้เน้นไปที่ การสกัดส่วนประกอบสำคัญเช่น tetrahydrocannabinol หรือ THC และให้โดยตรงโดยทำให้อยู่ในรูปของยาเม็ดหรือสเปรย์ฉีดพ่นเข้าทางปาก อย่างไรก็ตามหลายฝ่ายคิดว่าการสกัดแยกเอาส่วนประกอบออกมาจะไม่มีฤทธิ์ในทางรักษาได้เท่ากับการใช้พืชทั้งต้นและมันก็เป็นการยากที่จะกำหนดปริมาณยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนได้ด้วยการให้กินยาเม็ด Donald Abrams จาก University of California ซานฟรานซิสโก และทีมของเขาได้ตัดสินใจที่จะทำการศึกษาผลดีของเครื่อง ‘Volcano’ ที่ใช้ทำให้สารระเหยเป็นไอ ที่มีใช้อยู่ในปัจจุบันนี้ เครื่องมือนี้จะทำการให้ความร้อนใบกัญชาที่อุณหภูมิระหว่าง 180-200 องศาเซลเซียส ดังนั้นสาร THC จึงระเหยออกจากน้ำมันบนพื้นผิวของใบที่ยังไม่เกิดกระบวนการเผาใหม่ การศึกษาก่อนหน้านี้ได้แสดงให้เห็นถึง อันตรายของสารพิษที่ถูกปล่อยออกมาขณะที่มีการสูบกัญชา เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอ๊อกไซม์ (carbon monoxide), เบนซีน (benzene) และสารที่เป็นต้นกำเนิดของสารพวก polycyclic aromatic hydrocarbons หรือที่เรียกว่าสารก่อมะเร็ง (carcinogens) สารเหล่านี้จะไม่เกิดขึ้นถ้าใช้เครื่องมือดังกล่าว สเปนพบสารออกฤทธิ์ในกัญชา ต้านเซลล์มะเร็งในสมองได้ ถึงจะเป็นพืชอันตราย ที่ทำให้ผู้เสพเกิดอาการประสาทหลอน แต่นักวิทย์สเปนกลับพบว่า สารสำคัญในกัญชามีฤทธิ์ต้านเซลล์มะเร็งในสมองได้ดี โดยกระตุ้นให้เซลล์มะเร็งทำลายตัวเอง อนาคตหวังพัฒนายาต้านมะเร็งจากพืชยาเสพติดชนิดดังกล่าว
กิลเลอร์โม เวลาสโก (Guillermo Velasco) นักวิจัยของมหาวิทยาลัยคอมพลูเทนส์ (Complutense University) ในกรุงมาดริด ประเทศสเปน และคณะ ค้นพบว่า สารสำคัญในกัญชา (marijuana) มีฤทธิ์ยังยั้งเซลล์มะเร็งสมองได้ ทำให้นักวิจัยมีความหวังในการพัฒนายาต้านมะเร็งที่มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น ในอนาคต ซึ่งเอเอฟพีรายงานว่า นักวิจัยได้ตีพิมพ์ผลงานดังกล่าวในวารสาร เจอร์นัล ออฟ คลินิคัล อินเวสติเกชัน (Journal of Clinical Investigation) ของสหรัฐฯ ฉบับเดือนเมษายน 2552
ทีมนักวิจัยทดลองฉีดสารเตตระไฮโดรแคนนาบินอล หรือ ทีเอชซี (tetrahydrocannabinol: THC) ที่สกัดได้จากกัญชาแก่หนูทดลองที่เป็นมะเร็งในสมองชนิดเดียวกับในคน โดย ฉีดทีเอชซีเข้าไปในสมองบริเวณใกล้กับที่มีเซลล์มะเร็ง พบว่ากลุ่มเซลล์มะเร็งบริเวณดังกล่าวค่อยๆลดลง ทั้งนี้เพราะทีเอชซีไปกระตุ้นเซลล์มะเร็งให้เกิดกระบวนการทำลายตัวเอง (autophagy)
จากนั้นได้ทดลองในระดับคลินิกกับผู้ป่วยอาสาสมัครจำนวน 2 ราย ที่เป็นเนื้องอกในสมองขั้นรุนแรง โดยการให้สารทีเอชซีเข้าไปในสมองโดยตรง และ เมื่อตรวจชิ้นเนื้อเยื่อจากบริเวณดังกล่าวเปรียบเทียบกันก่อนและหลังที่ผู้ ป่วยจะได้รับทีเอชซี ซึ่งพบว่ามีการทำลายเซลล์เนื้องอกเพิ่มมากขึ้นตามคาด ขณะเดียวกันไม่พบผลข้างเคียงใดๆจากการรักษาเลย จึงมีศักยภาพในการพัฒนาเป็นยายับยั้งการเจริญของเนื้องอกหรือเซลล์มะเร็งได้ในอนาคต
ทั้งนี้ กัญชาจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พรบ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 และในประเทศไทยไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์ ขณะที่นักวิทยาศาสตร์ในหลายประเทศให้ความสนใจศึกษาสารสำคัญในกัญชาเพื่อ ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ต่อร่างกายและประโยชน์ในทางการแพทย์ ซึ่งจากการศึกษาวิจัยตั้งแต่อดีตเรื่อยมาก็พบว่ากัญชาสามารถใช้เป็นยาในการ บำบัดรักษาอาการป่วยในบางโรคได้ เช่น ลดการอาเจียนระหว่างรักษามะเร็งด้วยเคมีบำบัด, ลดการปวดอักเสบในโรคที่เกิดจากภูมิคุ้มกันของร่างกาย และลดการปวดและเกร็งที่เป็นผลมาจากเส้นประสาทถูกทำลาย (เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับกัญชา, ภญ.ธีรธร มโนธรรม กองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา, 12 ตุลาคม 2549[2]
สารสำคัญในกัญชาที่ใช้ทางการแพทย์[แก้]
นอกจากการนำพืชกัญชามาใช้เป็นยา ปัจจุบันมีการพัฒนายามาจากพืช เช่นสกัดออกมา หรือสังเคราะห์ทางเคมีให้มีโครงสร้างเช่นเดียวกับสาร cannabinoid ตัวอย่างเช่น
- มารินอล (marinal ) เป็นสารสังเคราะห์ dronabinol หรือ delta-9-tetrahydrocannabinol (THC) อยู่ในรูปยาเม็ด มีข้อบ่งใช้ ต้านการอาเจียน กระตุ้นความอยากอาหาร ใช้ป้องกันคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล และยังใช้เพิ่มความอยากอาหารในผู้ป่วยโรคเอดส์ มีจำหน่ายในรูปยารัtบประทานเป็นเม็ดแคปซูลอ่อนกลมทั้งในสหรัฐอเมริกา และแคนาดา เป็นยาที่ให้จ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น
- ซีซาเมท (Cesamet ) ตัวยาสำคัญได้แก่ นาบิโลน (nabilone) ซึ่งเป็นอนาล็อกของสาร THC ใช้ป้องกันคลื่นไส้อาเจียนที่เกิดจากยาที่ใช้รักษาโรคมะเร็ง ใช้ในกรณีที่ใช้ยาอื่นแล้วไม่ได้ผล เป็นยาที่จ่ายตามใบสั่งแพทย์เท่านั้น การสั่งจ่ายไม่สามารถ เพิ่มจำนวนยาเข้าในใบสั่งเดิมได้ ต้องได้ใบใหม่จากแพทย์ทุกครั้ง มีจำหน่ายในรูปยารับประทานเป็นเม็ดแคปซูล ไม่มีจำหน่ายในสหรัฐอเมริกา มีแต่ในแคนาดา
- ซาติเวกซ์ (sativex) สกัดจากพืชกัญชาที่ถอดแบบทางพันธุกรรม (cloning) แล้วทำในรูปสเปรย์ เป็นสารสกัดประกอบด้วย tetrahydrocannabinol และ cannabidial เป็นส่วนประกอบหลัก ให้ยาโดยสเปรย์เข้าไปในปาก ใต้ลิ้น แทนการสูบ สามารถลดการปวดประสาท และอาการนอนไม่หลับ และรักษาอาการปวดเส้นประสาทอย่างรุนแรง บริษัทไบเออร์ (Bayer) ซึ่งเป็นผู้ได้รับสิทธิ์ในการวางตลาดในสหราชอาณาจักร จะขยายไปสู่ประเทศต่างๆในยุโรป และประเทศในเครือ เช่น แคนาดา แต่พบว่ามีความล่าช้าในการรับรองในสหราชอาณาจักร แคนาดาจึงเป็นประเทศแรกที่ให้การรับรอง มีประมาณการว่า 10-30 เปอร์เซนต์ของผู้ป่วยในยุโรป สูบกัญชาเพื่อลดอาการปวดและอาการอื่นที่เกิดจาก[3]
การเรียกร้องให้กัญชาเป็นสารเสพติดที่ถูกกฎหมาย[แก้]
ปัจจุบันในประเทศไทยในกัญชาถูกจัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตาม พ.ร.บ.ยาเสพติดให้โทษ พ.ศ. 2522 ซึ่งมีโทษทางอาญากับผู้เสพและผู้ครอบครองและไม่มีการอนุญาตให้นำมาใช้ในทางการแพทย์แต่อย่างใด
เมื่อวันที่ 20 เมษายน 2558 มีการจัดงานเสวนาในหัวข้อ "ความเป็นไปได้ในการลดทอนความผิดเกี่ยวกับยาเสพติด: กรณีศึกษากัญชา" พร้อมใจกันจัดกิจกรรมเพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนกฎหมายเกี่ยวกับกัญชา ด้วยเหตุผลหลักๆ 3 ข้อ ได้แก่ บทลงโทษรุนแรงเกินไป การลงทุนปราบปรามกัญชาเสียมากกว่าได้ และการจับกุมทำให้ผู้เสพกัญชามีประวัติอาชญากรติดตัว ทำให้หางานทำยาก[4]
อ้างอิง[แก้]
- International Plant Names Index (IPNI)
- The Endocannabinoid System Network (ECSN) - Contains medical information to the Endocannabinoid System
- http://www.rdi.ku.ac.th/kufair50/plant/43_plant/43_plant.html
- ข้อมูลเกี่ยวข้องกับ Cannabis จากวิกิสปีชีส์
คอมมอนส์ มีภาพและสื่อเกี่ยวกับ: Cannabis indica |
ดูเพิ่ม[แก้]
- กัญชง พืชที่มีลักษณะคล้ายกัน