ห้วงเวลานี้ไม่มีคดีไหนเป็นที่จับตาเหมือนคดีของ พระธัมมชโย เจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย ผู้ต้องหาตามหมายจับของศาลอาญา ในข้อหาสมคบฟอกเงินร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร กรณีรับเช็คจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น
คนทั้งประเทศกำลังจับตาว่าที่สุดแล้วคดีนี้จะจบลงแบบไหน แม้ที่ผ่านมาคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอพยายามเข้าไปจับกุม พระธัมมชโย ภายในวัดตามหมายจับและหมายค้น แต่ต้องเผชิญกับโล่มนุษย์ของคณะศิษยานุศิษย์ขัดขวาง ทำให้ดีเอสไอต้องยุติการตรวจค้นลง เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขจรศักดิ์ พุทธานุภาพ อัยการพิเศษฝ่ายการสอบสวน 3 สำนักงานอัยการสูงสุด ในฐานะ “กุนซือ” ทางกฎหมายที่คลุกวงทำงานร่วมกับคณะพนักงานสอบสวนดีเอสไอทำคดีของพระธัมมชโย ตั้งแต่ต้น มองสถานการณ์วัดพระธรรมกายผ่านมุมกฎหมายอย่างน่าสนใจว่า คดีของพระธัมมชโย ถือว่าใหญ่พอสมควร เนื่องจากมีความสลับซับซ้อนของคดีหลายขั้นตอน อีกทั้งยังเป็นคดีที่มีผู้เกี่ยวข้องกับตัวบุคคลจำนวนมาก รวมไปถึงจำนวนเงิน ทุนทรัพย์ในคดี ที่ตรวจมาแล้วพบว่าเยอะผิดปกติ
“ในการตรวจสอบวิเคราะห์ทางการเงินแล้วพบว่ามีเงินจากสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น ไหลไปยังวัดพระธรรมกาย พระธัมมชโย และมูลนิธิต่างๆ ภายในวัดจำนวนมาก โดยเฉพาะส่วนตัวของพระธัมมชโยก็หลักพันล้านบาทแล้วซึ่งพบว่าเชื่อมโยงกันเป็นเครือข่าย”
สำหรับคดีของพระธัมมชโยมีผู้ต้องหาทั้งหมดร่วม 5 คน ประกอบ 1.ศุภชัย ศรีศุภอักษร อดีตประธานสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่น 2.พระเทพญาณมหามุนี หรือ ไชยบูลย์ สุทธิผล หรือพระธัมมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย 3.ศรัณยา มานหมัด 4.ทองพิน กันล้อม และ 5.ศศิธร โชคประสิทธิ์
“คดีของพระธัมมชโย ต้องมาชี้แจงต่อเจ้าหน้าที่ว่าเงินที่ได้มานั้นเป็นมาอย่างไร ต้องเอาหลักฐานมาพิสูจน์ว่าไม่ได้กระทำผิดจริง เพราะการสอบสวนในชั้นพนักงานสอบสวนคือการแสวงหาหลักฐานและแจ้งข้อกล่าวหา ไม่ใช่การชี้ถูกชี้ผิด เรื่องนั้นศาลจะเป็นผู้พิจารณา อีกทั้งยังมีศาลถึง 3 ศาล ประกอบด้วย ศาลชั้นต้น ศาลอุทธรณ์ และศาลฎีกา ในการต่อสู้ทางคดีก็ต้องใช้เวลาหลายปีกว่าคดีความจะยุติในชั้นศาลฎีกา”
ขจรศักดิ์ เรียกร้องให้ พระธัมมชโย มอบตัวตามกระบวนการทางกฎหมาย เพราะสิ่งใดที่ทำถูกกฎหมาย ก็จะไม่กดดัน แต่ถ้าอะไรที่ทำเบี่ยงเบนกฎหมายหรือผิดกฎหมายก็จะเกิดความกดดันกับตัวผู้ต้องหาตามมา ยิ่งถ้าขัดขืน มีพฤติการณ์ขัดขวางซ้ำๆ ก็จะปิดโอกาสในการพิจารณาเรื่องการประกันตัวและยิ่งจะเป็นผลเสียต่อพระธัมมชโยเองเวลานี้จะเห็นว่าการทำดังกล่าวทำให้ลูกศิษย์ถูกดำเนินคดีด้วย ฝ่ายกฎหมายของวัดควรพิจารณาจุดนี้ ดังนั้น การมอบตัวเป็นคุณมากกว่า หากมอบตัวตั้งแต่การออกหมายเรียกตั้งแต่ครั้งแรก คงไม่บานปลายมาขนาดนี้
“ยิ่งล่าช้าก็ยิ่งเป็นผลเสียต่อตัวของพระธัมมชโยเองเพราะจะสูญเสียโอกาส ในการแสดงพยานหลักฐานพิสูจน์ความบริสุทธิ์ โอกาสในการพิจารณาตามหลักเกณฑ์ของศาล จะคับแคบลงเรื่อยๆ อย่างการจับกุมยาก เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไป 3-4 ครั้ง กว่าจะจับมาได้ หรือจะต้องมีคนบาดเจ็บ สิ่งเหล่านี้อยู่ในดุลยพินิจของศาลในการพิจารณาว่าจะให้ประกันตัวหรือไม่ แต่ถ้ามามอบตัวหนทางอาจไม่ถึงทางตัน
...ที่ผ่านมาเราอะลุ้มอล่วยให้กับพระธัมมชโยมาตลอดทั้งเรื่องให้ประกัน หรือสถานที่แจ้งข้อกล่าวหา แต่สิ่งที่วัดขอให้ไปสอบสวนภายในวัด ตรงนั้นทำไม่ได้ผิดกฎหมาย ไม่ใช่นึกจะสอบตรงไหนก็สอบ มันทำไม่ได้ เพราะมันเป็นหลักของความเปิดเผยโปร่งใส จึงต้องเป็นสถานที่ของรัฐ ไม่อย่างนั้นก็ไปสอบใครตามเซฟเฮ้าส์ ตามโรงแรมก็ได้”
อัยการพิเศษฯ ระบุว่า หมายจับใช้ได้จนกว่าจะมีการจับตัวผู้ต้องหาได้ “เว้นแต่คดีขาดอายุความ ก็จะใช้ไม่ได้ หรือศาลเพิกถอนหมาย”สำหรับการเพิกถอนหมายจับนั้น เช่น กรณีอัยการมีคำสั่งไม่ฟ้องแล้ว ศาลก็จะเพิกถอนหมายคืน ดังนั้น หมายจับที่ศาลอาญาออกมาให้สามารถใช้ได้ตลอด แต่การเข้าจับกุมบุคคลในที่รโหฐานจะต้องขอหมายค้นก่อน
ประเด็นที่พระธัมมชโยใช้ต่อสู้คือ เมื่อไม่มามอบตัวหรือรับทราบข้อหากับดีเอสไอ อัยการก็ไม่มีตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาล อาจทำให้ศาลไม่รับฟ้องพระธัมมชโย เรื่องนี้ ขจรศักดิ์ แจกแจงว่า หากพนักงานอัยการมีความเห็นสั่งฟ้อง และสั่งให้จับกุมตัวมาให้ได้ภายในอายุความผิดตามข้อกล่าวหา เช่น ความผิดฐานฟอกเงินก็ 15 ปี พนักงานสอบสวนต้องดำเนินการตามหมายจับ โดยต้องจับตัวผู้ต้องหามาให้ได้ เมื่อได้ตัวแล้วก็นำส่งให้พนักงานอัยการ จากนั้นพนักงานอัยการก็จะพาตัวผู้ต้องหาฟ้องต่อศาล
“การฟ้องร้องต่อศาลในทางอาญาจะต้องมีตัวผู้ต้องหา หากไม่มีตัวคดีนี้ก็จะคาหมายจับไปตลอดอายุความ (15 ปี) จนกว่าจะได้ตัวผู้ต้องหา การขึ้นศาลก็เพื่อเปิดโอกาสให้มีการต่อสู้กันทางคดี แต่การไม่มีตัวผู้ต้องหาจะทำให้ไม่สามารถมีการบังคับโทษกันได้ และทางพนักงานอัยการจะคืนเรื่องมาให้ดีเอสไอ จากนั้นดีเอสไอมีหน้าที่ในการทำความเห็นจะแย้งหรือไม่ ถ้าเห็นแย้งก็ต้องส่งเรื่องให้อัยการสูงสุดเป็นผู้ชี้ขาดอีกครั้งตามกระบวนการทางกฎหมาย”
อัยการพิเศษฯ กล่าวว่า หากเปรียบเทียบการต่อสู้ของพระธัมมชโยก็จะคล้ายกับคดีทายาทกระทิงแดง ที่ยังไม่ได้ตัวผู้ต้องหามาส่งฟ้อง ยังอยู่ระหว่างการติดตามตัวของพนักงานสอบสวนเพื่อนำมาตัวมาส่งให้พนักงานอัยการ
คณะศิษย์วัดพระธรรมกายอ้างว่า พระธัมมชโย ยังไม่มอบตัวเพราะบ้านเมืองยังไม่เป็นประชาธิปไตย ซึ่งทำให้ขาดหลักประกันสิทธิเสรีภาพในกระบวนการยุติธรรมได้ ขจรศักดิ์ ตอบโต้ว่า การเรียกร้องประชาธิปไตยของกลุ่มลูกศิษย์วัดไม่ได้มีความเกี่ยวข้อง
เขาบอกว่า หลักพื้นฐานของกฎหมายคือหลักการสุจริต เวลานี้เมืองไทยใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือเยอะ ทั้งที่การใช้ต้องเป็นการใช้แบบสุจริต เช่น คุณทำผิดจริงเสียหายจริงก็ต้องปกป้องสิทธิกันตามกระบวนการบางครั้งก็เป็นเกมสกัดกั้นการทำงานของเจ้าหน้าที่ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ถ้าผิดจริงกล่าวหากันมา แต่ถ้าไม่ผิดจริงแล้วคุณไปกล่าวหาถือเป็นการใช้สิทธิไม่สุจริตตามหลักพื้นฐาน
“อย่างเรื่องวัดพระธรรมกายยังไปไม่ถึงไหนก็มีการร้องเรียนแล้ว ฉะนั้นสิ่งที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติต้องยึดและปฏิบัติตามกฎหมาย การทำงานของเจ้าหน้าที่ก็จะมีกฎหมายรองรับในการทำหน้าที่เช่นกัน ไม่ใช่อยู่ๆ ไปทำอะไรที่ไม่ใช่กฎหมายเราก็ผิด เช่นเดียวกันการใช้สิทธิของประชาชนก็ต้องดูด้วย”
ขจรศักดิ์ อธิบายว่า ในบ้านเมืองที่เป็นประชาธิปไตยเหมือนกับในต่างประเทศมีระบบกฎหมายที่สำคัญ ของไทยก็ปฏิบัติตามกฎหมายประมวลวิธีพิจารณาฯ มีขั้นตอนการปฏิบัติต่างๆ ในการเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม กฎหมายของไทยมีทั้งประเด็นที่ต้องคุ้มครองสิทธิเสรี และการใช้อำนาจรัฐในขอบเขต
ฉะนั้น ทุกคนที่เข้าสู่กระบวนการกฎหมายและจะต้องได้รับการปฏิบัติในแบบเดียวกัน เมื่อถูกกล่าวหาว่าทำผิดก็ต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรม เพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์ของตัวเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
บทความแนะนำ
คอลัมน์นิสต์ออนไลน์
-
ทราบยัง
โดย...ทีมคอลัมน์นิสต์ออนไลน์
-
เงียบฉี่
โดย...คอลัมน์7
-
กองทุนช้อนหุ้น
โดย...นายกระทิง & หญิงฟลอร์